ปัจฉิมบทระดมสมองไทยเจ้าภาพเอเปค ปี 65
ปี 2565 จะเป็นหนึ่งหมุดหมายสำคัญของการต่างประเทศไทย และจะเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะสามารถแสดงศักยภาพผ่านการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ในปีหน้า นับเป็นเวทีระหว่างประเทศที่ไทยใช้ผลักดันความร่วมมือต่าง ๆโดยเฉพาะประเด็นเศรษฐกิจมาอย่างยาวนาน และแสดงบทบาทนำสร้างความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูในทุกมิติ
การรับไม้ต่อของไทยในช่วงกลางเดือน พ.ย.นี้ ทำให้เราต้องทำการบ้าน โจทย์ใหญ่ผ่านการขบคิดวิเคราะห์ และประมวลผล ว่าอะไรควรเป็นประเด็นหารือสำคัญ เพื่อให้ประชาชนไทยได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย
นับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 กระทรวงการต่างประทศได้มุ่งทำการบ้านผ่านการหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกิจกรรมระดมสมองต่าง ๆ อาทิ APEC Focus Group, APEC 5.0 Professionals Meeting. APEC Brainstorming Session และ APEC Media Focus Group ที่ได้สร้างการมีส่วนร่วมกับนักวิชาการ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชนสื่อมวลชน หน่วยงานภาครัฐที่เป็นผู้กำหนดนโยบายและปฏิบัติรวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกว่า 300 คน
นี่เป็นที่มาของการตกผลึกกรอบแนวคิด “1 หลักการ 3 ประเด็นสำคัญ” ที่นำมาเป็นพื้นฐานในการหารือครั้งลำสุดในกิจกรรม APEC Symposium ที่กระทรวงการต่างประเทศจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มี.ค.2564
1 หลักการที่จะเป็นพื้นฐานความคิดในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยคือ หลักการ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งหมายถึง “เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว” อันจะเป็นโมเดลเศรษฐกิจ หรือกลไกหลักในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูอย่างยั่งยืนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่อไป
BCG โมเดลนี้ถูกกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติที่ไทยยินดีแบ่งปันแนวคิดเหล่านี้เป็นทางเลือกในการฟื้นฟูให้กับประเทศต่าง ๆโดยเฉพาะแนวคิด BCG สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาของไทยในอดีต ผ่าน “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” (Sufficiency Economy Philosophy: SEP) และยังมุ่งสู่ผลลัพธ์เดียวกันกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)
3 ประเด็นสำคัญที่เป็นหัวใจของการหารือในกิจกรรม APEC Symposium เริ่มต้นที่หัวใจหลักของความร่วมมือในกรอบเอเปคคือ
1.การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน ในประเด็นนี้ผู้ร่วมเสวนามองว่าโควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญในการเร่งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีต่อภาคธุรกิจ (Technological Disruption) ทำให้ช่องว่างระหว่างผู้ประกอบการรายเล็กกับผู้ประกอบการรายใหญ่กว้างมากขึ้นดังนั้น ทิศทางการพัฒนาด้านการค้าการลงทุนควรมุ่งเน้นการสร้างการเข้าถึง (access โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ใน3 มิติ คือ การเข้าถึงข้อมูลการเช้าถึงแหล่งเงินทุน และการเข้าถึงตลาด โดยเฉพาะตลาดดิจิทัลที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง
2.การฟื้นฟูความเชื่อมโยงโดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยว ประชุมเห็นพ้องกันว่าประเทศไทยควรใช้โอกาสในการเป็นเจ้าภาพเอเปคผลักดันการกำหนดแนวปฏิบัติในการเดินทาง (Travel Protocol)ระหว่างเขตเศรษฐกิจที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน (Vaccine Certificate) นอกจากนี้ควรพิจารณาใช้ประโยชน์จากจุดแข็งในด้านสาธารณสุขของไทยร่วมกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในปัจจุบันในการส่งเสริมธุรกิจในภาคบริการ อาทิระบบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism)
3.การเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม ผู้ร่วมเสวนาได้หยิบยกแนวคิดเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตผ่านการบ่มเพาะนวัตกรรม และมองว่าเขตเศรษฐกิจต้องเร่งกระบวนการในการสร้างสภาพแวดล้อมของนวัตกรรม(Innovation Ecosystem) ให้มีความแข็งแรงโดยเริ่มจากการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นสำคัญ ทั้งจากทรัพยากรภายในประเทศ ผ่านการสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็น (Reskill) และการพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะเดิมให้ดีขึ้น (Upskill)
นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้พัฒนาระบบที่จะอำนวยความสะดวกในการจ้างงานแรงงานที่มีศักยภาพระหว่างเขตเศรษฐกิจผ่านกลไกเดิมที่มีอยู่เช่น บัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปคให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการรายย่อยและสตาร์ทอัพอีกด้วย