ในโอกาสที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC 2022 ในปีนี้ ผมได้ทำหน้าที่ประธานการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ ๕ หรือ The Fifth APEC Meeting of Ministers Responsible for Forestry หรือ MMRF5 ซึ่งประเทศไทย โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๕ ณ โรงแรมเลอ เมอริเดียน จังหวัดเชียงใหม่ การประชุม MMRF5 เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ซึ่ง ๒๑ เขตเศรษฐกิจได้มาร่วมมือกัน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความร่วมมือในการต่อสู้กับการลักลอบตัดไม้และการค้าไม้ที่ผิดกฎหมาย และ
ที่สำคัญ คือ การส่งเสริมให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่น ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทั้งนี้
ภาคป่าไม้มีความสำคัญอย่างมากต่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ อันนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนเอเปค รุ่นของเราและรุ่นต่อไป
ผมได้เน้นย้ำในที่ประชุมว่า “การประชุม MMRF5 ในครั้งนี้ เป็นการประชุมที่มุ่งสู่เป้าหมายการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน โดยอาศัยการสร้างความสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่
สมดุล (Open. Connect. Balance.) ซึ่งประเทศไทยได้นำเสนอให้เขตเศรษฐกิจพิจารณานำหลัก BCG Economy Model ไปสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้กรอบ
เอเปค และผมได้กล่าวแสดงความยินดีกับความสำเร็จของสมาชิกเอเปค ในการร่วมกันดำเนินงานจนสามารถบรรลุเกินกว่าเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของภูมิภาคที่กำหนดไว้ คือ เราสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ได้ถึง ๑๗๔.๓๘ ล้านไร่ หรือ ๒๗.๙ ล้านเฮกแตร์ในโอกาสนี้ ผมขอขอบคุณรัฐมนตรีป่าไม้เอเปค และผู้แทนจากทุกเขตเศรษฐกิจ
เอเปค ที่ได้ร่วมมือร่วมใจปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันมาอย่างสร้างสรรค์ จนการประชุมประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี และเห็นชอบร่วมกันที่จะส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือ และ
ยกระดับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู รักษาพื้นที่ป่าไม้ให้เพิ่มขึ้น รวมถึงส่งเสริมการค้าผลิตภัณฑ์ไม้ตามแนวทางและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ การประชุม MMRF5 ได้แสดงให้เห็นว่า ป่าไม้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและส่งเสริมโอกาสในการค้าไม้และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างถูกกฎหมาย ในขณะเดียวกันก็ช่วยเสริมสร้างรายได้ให้กับเขตเศรษฐกิจและประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งจะผลักดันให้เกิดความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ตามหัวข้อหลักของการประชุม APEC’s Thailandนอกจากนั้นแล้ว ผมยังได้ผลักดันให้ BCG Model เป็นแนวทางหนึ่งในการนำไปสู่การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าและส่งเสริมรูปแบบธุรกิจที่ยั่งยืน ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเป็นการเพิ่มการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้ ซึ่งจะสนับสนุนให้สามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
ทั้งนี้ การจัดการประชุม MMRF5 ในครั้งนี้ เราได้จัดการประชุมแบบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยภายหลังการประชุมช่วงเช้า คณะผู้แทนจากทุกเขตเศรษฐกิจเอเปค
ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่สวนพฤกษ์ศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เยี่ยมชมการอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุ์พืชไทย พันธุ์ไม้ประจำถิ่น และพันธุ์ไม้หายาก ภายใน สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ซึ่ง สวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้ เป็นสวนพฤกษศาสตร์สากลแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นสวนพฤกษศาสตร์ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานพระนามาภิไธย ให้ใช้ชื่อสวนแห่งนี้ว่า “สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์”ซึ่งเป็นสวนขนาดใหญ่ภายใต้การดูแลขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ที่มีการบริหารจัดการในระดับworldclass และจะได้
เดินทางไปดูงานที่สวนป่าทุ่งเกวียน จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นสวนป่าภายใต้การดูแลขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เพื่อเป็นการแสดงศักยภาพของประเทศไทยในการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนตามมาตรฐานสากล