การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๑ เริ่มขึ้นแล้วเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ โดยในช่วงสองวันแรก คณะผู้แทนไทยได้ร่วมหารือแลกเปลี่ยนความเห็น
กับผู้แทนเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคในการประชุมคณะทำงานต่าง ๆ รวม ๘ กลุ่ม ครอบคลุมประเด็นสำคัญ อาทิ ความมั่นคงทางอาหาร การประมงและทรัพยากรทางทะเล ทรัพย์สินทางปัญญา พิธีการศุลกากร และการส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น
ประเด็นหารือที่สำคัญในช่วงสองวันแรกคือ การส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงมิติการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างสมดุลและยั่งยืน เช่น การประชุม
คณะทำงานด้านมหาสมุทรและการประมง ได้หารือแนวทางการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing – IUU) และการลดขยะทะเลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกรวมทั้งการจัดทำแผนงานการส่งเสริมการทำประมงพื้นบ้าน ซึ่งไทยได้นำเสนอโครงการ
การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการจัดการข้อมูลการทำประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืนในภูมิภาค และการอบรมเชิงเทคนิคด้านการจัดการขยะทะเล รวมถึงการประชุมกลุ่ม
ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการค้าไม้ผิดกฎหมายและการค้าที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการหารือผลกระทบของสถานการณ์โควิด-๑๙ ต่อการค้าไม้ผิดกฎหมายและแนวทาง
การรับมือ การนำนวัตกรรมมาส่งเสริมการค้าไม้ถูกกฏหมาย รวมทั้งเตรียมการจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ ๕ ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๕ โดยไทยมีแผนจะนำเสนอประเด็นการส่งเสริมการค้าไม้ที่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยนำนวัตกรรมมาใช้
ในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ และการอำนวยความสะดวกการค้าไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ สร้างชุมชนเข้มแข็งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ตามหลักเศรษฐกิจ BCG
ในช่วงการประชุมสองวันแรกนี้ มีการประชุมที่ไทยทำหน้าที่เป็นประธานคณะทำงาน เช่น การประชุมหุ้นส่วนเชิงนโยบายความมั่นคงทางอาหาร ได้หารือเรื่อง
การจัดทำแผนปฏิบัติการของแผนงานความมั่นคงอาหารเอเปคมุ่งสู่ปี ค.ศ. ๒๐๓๐ และปฏิญญาว่าด้วยความมั่นคงทางอาหารซึ่งจะเป็นผลลัพธ์ของการประชุมรัฐมนตรี
ความมั่นคงอาหารเอเปคในช่วงเดือนสิงหาคมต่อไปด้วย โดยการประชุมฯ จะเน้นการนำแนวคิด BCG และนโยบาย 3S (Security, Safety, Sustainability) มาส่งเสริมการสร้างความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค
การส่งเสริมการพัฒนาอย่างสมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ไทยผลักดันในฐานะเจ้าภาพเอเปค โดยตลอดทั้งปี ไทยจะผลักดันการนำ
แนวคิด BCG มาขับเคลื่อนการทำงานของเอเปคเพื่อมุ่งสู่ การฟื้นฟูเศรษฐกิจยุคหลังโควิด ๑๙ ที่คำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมและความสมดุลควบคู่กันไป การประชุม
คณะทำงานต่าง ๆ ในห้วงการประชุมนี้ จึงถือเป็นบันไดสำคัญเพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์การประชุมที่เป็นรูปธรรมที่จะให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคร่วมกันรับรองใน
ที่ประชุมผู้นำฯ ช่วงเดือนพฤศจิกายนต่อไป